บทความ

ตู้คอนเทนเนอร์มีกี่ประเภท เลือกอย่างไรหากจะนำเข้าสินค้าหรือส่งออก

การขนส่งสินค้าโดยบรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ เป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมทั้งการขนส่งระหว่างประเทศและการขนส่งภายในประเทศ เนื่องจากสามารถใส่สินค้าได้เยอะ อีกทั้งยังมีความปลอดภัยและตรวจสอบได้ง่ายดาย เนื่องจากมีการกำกับทั้งเบอร์ตู้และเบอร์ซีลที่ชัดเจน สามารถระบุได้ทันทีว่าสถานะของตู้ตอนนี้อยู่ที่ไหน อีกทั้งยังช่วยให้ชิปปิ้งเคลียร์ภาษีได้ง่ายขึ้นด้วย โดยบริษัทโลจิสติกส์มีหลักการในการแนะนำเกี่ยวกับการเลือกใช้ตู้คอนเทนเนอร์อย่างไร และจริง ๆ แล้วตู้คอนเทนเนอร์มีกี่ประเภท ใช้งานแตกต่างกันอย่างไร ข้อมูลทั้งหมดมีดังต่อไปนี้

ตู้คอนเทนเนอร์ตัวช่วยในการส่งสินค้า มีกี่ประเภทและใช้งานอย่างไร

ตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้ในการนำเข้าสินค้าและส่งออกสินค้าที่เราเห็นเป็นกล่องเหล็กขนาดใหญ่นั้น ผลิตขึ้นมาจากเหล็กหรืออะลูมิเนียมใช้ทำเป็นโครงสร้างภายนอกที่มีความหนาของแผ่นเหล็กหรือแผ่นอะลูมิเนียมนำมาวางซ้อนกันไม่ต่ำกว่า 10 ชั้น โดยบริเวณประตูตู้จะมีเบอร์ตู้กำกับอยู่ ส่วนซีลที่ใช้ล็อกตู้แต่เดิมจะใช้วัสดุตะกั่ว และพัฒนามาเป็นพลาสติกที่ประทับหมายเลขกำกับ ซึ่งใช้สำหรับบ่งชี้ว่ามีการเปิดตู้สินค้าระหว่างการขนส่งหรือไม่ โดยในปัจจุบันมีการนำซีลแบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ เพื่อให้ง่ายต่อการเช็กสถานะตู้สินค้าว่าถูกเคลื่อนย้ายไปอยู่ ณ จุดใด โดยประเภทของตู้คอนเทนเนอร์ในปัจจุบันมีดังต่อไปนี้

  1. ตู้คอนเทนเนอร์ทั่วไป หรือเรียกว่า Dry Cargoes เป็นตู้สินค้าที่ใช้สำหรับใส่สินค้าทั่วไป มีขนาดมาตรฐานคือ 20 ฟุต, 40 ฟุต, 40 ฟุตไฮคิวบ์ หรือ 40’ HC จะมีความยาวเท่าขนาด 40 ฟุตทั่วไปแต่มีความสูงมากกว่า และตู้ความยาว 45 ฟุต โดยการโหลดสินค้าจะนิยมวางสินค้าใส่พาเลตและรัดด้วยเครื่องรัดพาเลตเพื่อป้องกันสินค้าเลื่อนตกเสียหายระหว่างการขนส่ง
  2. ตู้คอนเทนเนอร์แบบทำความเย็น หรือเรียกว่า Reefer (Refrigerator Cargoes) คือตู้สินค้าที่มีเครื่องปรับอากาศสำหรับสินค้าประเภทผัก ผลไม้ อาหารแช่แข็ง และยาเวชภัณฑ์ โดยตู้ชนิดนี้จะทำหน้าที่รักษาอุณหภูมิของสินค้าให้อยู่เท่าเดิม ไม่สามารถทำให้สินค้ามีอุณหภูมิลดลงได้ ดังนั้น การบรรจุสินค้าจะต้องทำความเย็นให้สินค้าได้อุณหภูมิที่ต้องการล่วงหน้าก่อนที่ตู้จะเดินทางมาถึง โดยตู้ที่ได้มาตรฐานจะสามารถปรับอุณหภูมิได้อย่างน้อย -18 องศาเซลเซียส และผู้ประกอบการที่ขนส่งสินค้าประเภทยาเวชภัณฑ์จะต้องมีใบรับรองสินค้าจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันปัญหาของติดใบอนุญาต
  3. ตู้คอนเทนเนอร์สำหรับเสื้อผ้า หรือ Garment Container เป็นตู้ที่เหมาะสำหรับสินค้าประเภทเสื้อผ้า เพราะภายในจะมีราวสำหรับแขวนเสื้อผ้า โดยส่วนใหญ่จะใช้สำหรับเสื้อผ้าแฟชั่นที่ค่อนข้างมีมูลค่าสูง ไม่ต้องการให้มีการพับหรือทับถมกันขณะขนส่ง และผู้ประกอบการควรให้ชิปปิ้งเคลียร์ภาษีเช็กพิกัดสินค้าและอัตราศุลกากรให้ดีว่าเสื้อผ้าแฟชั่นมีพิกัดที่แตกต่างจากเสื้อผ้าธรรมดาหรือไม่
  4. ตู้คอนเทนเนอร์แบบเปิดด้านบน หรือ Open Top จะมีความยาว 40 ฟุต ลักษณะจะไม่มีหลังคาตู้ด้านบน สำหรับใส่สินค้าประเภทเครื่องจักรที่มีขนาดใหญ่ ไม่สามารถผ่านประตูตู้คอนเทนเนอร์ได้ โดยวิธีการโหลดจะใช้เครนในการยกสินค้าขึ้นและวางสินค้าจากทางด้านบนตู้คอนเทนเนอร์ที่ไม่มีหลังคา
  5. ตู้คอนเทนเนอร์แบบมีเฉพาะพื้นตู้ หรือ Flat-rack จะมีความยาว 40 ฟุต ลักษณะคือไม่มีผนังตู้เลยมีเพียงพื้น Platform สำหรับวางสินค้าและมีเสาตามมุม 4 ด้านใช้สำหรับเกี่ยวและยกขึ้นเรือเท่านั้น โดยตู้ชนิดนี้จะเหมาะสำหรับสินค้าที่มีขนาดใหญ่มาก และมีไซส์ที่เกินและยื่นออกมานอกตู้ เช่น เครื่องจักร, หินขนาดใหญ่, งานประติมากรรม, รถขนาดใหญ่อย่างรถตักดิน เป็นต้น โดยชิปปิ้งเคลียร์ภาษีจะทราบได้ทันทีว่ามีสินค้าพิกัดพิเศษเมื่อมีการเรียกใช้งานตู้ชนิดนี้ โดยการยกขึ้นเรือตู้ Flat-rack จะถูกยกเป็นอันดับสุดท้ายและวางไว้ชั้นบนสุดเนื่องจากสินค้ามีขนาดใหญ่ หรือหากเรือมีพื้นที่ว่างก็จะวางกับพื้นเรือที่โดยที่สินค้าไม่โดนกับตู้คอนเทนเนอร์อื่น ๆ
  6. ตู้คอนเทนเนอร์แบบเปิดข้าง หรือ Open Side มีขนาดความยาว 40 ฟุต โดยลักษณะตู้จะมีผนังครบทุกด้าน แต่ผนังด้านข้างจะเปิดออกได้ สำหรับใส่สินค้าที่มีน้ำหนักมากแต่มีขนาดไม่ใหญ่เกินตู้ โดยการโหลดจะใช้รถเครนยกสินค้าและเลื่อนเข้าตู้ทางด้านข้าง เพราะสินค้ามีน้ำหนักเยอะทำให้ยกขึ้นสูงเพื่อใส่สินค้าด้านบนไม่ได้เพราะมีความเสี่ยงสูงที่น้ำหนักสินค้าจะทำให้สลิงขาด จำเป็นต้องยกสินค้าเพียงต่ำ ๆ และเคลื่อนเข้าตู้ด้านข้าง ดังนั้น สินค้าที่มีลักษณะนี้จะนำเข้าตู้ Open Top ไม่ได้ ต้องเข้าตู้ Open Side เท่านั้น

ตู้คอนเทนเนอร์จะถูกยกขึ้นเรือบรรทุกสินค้าตามวันและเวลาที่กำหนดเอาไว้ใน Booking Confirmation โดยตู้พิเศษอย่าง Flat-rack จะนิยมคืนตู้ที่ข้างเรือบรรทุกสินค้าไม่นำไปปะปนกับตู้คอนเทนเนอร์แบบทั่วไป เพื่อให้สะดวกในการยกขึ้นเรือเนื่องจากสินค้ามีขนาดใหญ่และน้ำหนักเยอะ โดยวิธีการเหล่านี้จะกระทำเป็นสากลเหมือนกันทั่วโลกทั้งการนำเข้าสินค้าและการส่งออกสินค้า