บทความ

12 รายการสินค้าที่ต้องขอใบอนุญาตนำเข้าสินค้า เอกสารสำคัญที่คุณต้องมี

การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศสู่ราชอาณาจักรไทยหากเป็นสินค้าทั่วไปที่ระบุว่าเป็น General Cargo จะมีขั้นตอนการนำเข้าที่ไม่ซับซ้อน แต่จะมีสินค้าอยู่ 12 รายการที่ผู้ประกอบการจะต้องได้ใบรับรองจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะนำไปขอใบอนุญาตนำเข้า ซึ่งหากการนำเข้าไร้ซึ่งเอกสารรับรองสินค้าจากหน่วยงานราชการและเอกสารอนุญาตนำเข้า สินค้านั้น ๆ จะไม่สามารถนำเข้ามาสู่ราชอาณาจักรไทยได้ หรือหากนำเข้ามาจะพบกับปัญหาของติดใบอนุญาตทันที โดยสินค้า 12 รายการที่ต้องมีใบอนุญาตนำเข้ามีดังต่อไปนี้

1. ยา เคมีภัณฑ์ เกลือที่เป็นเคมีภัณฑ์ และเคมีภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป
ผู้ประกอบการจะต้องได้รับหนังสือรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากระทรวงสาธารณสุขก่อน และถ้าหากสินค้านั้นคือคลอโรฟอร์ม (Chloroform) จะต้องได้รับหนังสือรับรองจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อนำไปประกอบกับเอกสารอื่น ๆ ในการยื่นขอใบอนุญาตนำเข้าสินค้าจากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

2. สารเคลนบิวเตอรอล
ผู้ประกอบการจะต้องได้รับหนังสือรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขก่อน เพื่อนำไปประกอบเอกสารสำคัญในการขอใบอนุญาตนำเข้า โดยผู้ที่มีอำนาจในการอนุญาตคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักบริการการค้าต่างประเทศเป็นผู้ดำเนินการอนุญาตแทน โดยผู้ประกอบการสามารถแต่งตั้งให้ชิปปิ้งเคลียร์ภาษีเข้าไปดำเนินการด้านเอกสารต่าง ๆ แทนได้ หากไม่สะดวกไปด้วยตัวเอง

3. สารอัลบิวเตอรอล หรือซัลบิวตามอล
ผู้ประกอบการจะต้องได้หนังสือรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขก่อน โดยสินค้าชนิดนี้ผู้ประกอบการจะต้องมีหลักฐานเอกสารการซื้อขาย คือ ใบกำกับสินค้า (Proforma Invoice หรือ Invoice) ไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ด้วย ก่อนที่จะนำไปขอใบอนุญาตนำเข้าจากอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ

4. หิน
สินค้าชนิดนี้ไม่ต้องมีหนังสือรับรองสินค้าจากหน่วยงานราชการ ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอใบอนุญาตนำเข้าได้จากกรมการค้าต่างประเทศ โดยต้องปฏิบัติตามคู่มือการนำเข้าสินค้าประเภทหินจากกองบริหารการค้าสินค้าทั่วไปกรมการค้าต่างประเทศ และเมื่อนำเข้าหินมาในราชอาณาจักรไทยแล้วผู้ประกอบการจะต้องรายงานการนำเข้าต่อกรมการค้าต่างประเทศ โดยขั้นตอนเหล่านี้สามารถใช้บริการบริษัทโลจิสติกส์ให้ดำเนินการแทนได้

5. รถยนต์ใช้แล้ว
สินค้าชนิดนี้จะมีความซับซ้อนในการขอใบอนุญาตนำเข้าเล็กน้อย โดยผู้ประกอบการไม่ต้องขอหนังสือรับรองจากหน่วยงานราชการใด สามารถยื่นขอใบอนุญาตนำเข้าจากกรมการค้าต่างประเทศได้เลย เพียงแต่ต้องทำตามขั้นตอนและแยกประเภทของรถตามที่กองบริหารการค้าสินค้าทั่วไป กรมการค้าต่างประเทศกำหนดเท่านั้น และถ้าหากผู้ประกอบการต้องการนำเข้ารถยนต์ใช้แล้วเพื่อมาปรับสภาพและนำส่งออกเพื่อขาย ผู้ประกอบการจะต้องขึ้นบัญชีเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมปรับสภาพรถยนต์ไว้กับกรมการค้าต่างประเทศให้เรียบร้อยก่อน จึงจะสามารถขอใบอนุญาตนำเข้าได้

6. ยางรถบัส หรือยางรถบรรทุกที่ใช้งานแล้ว
ผู้ประกอบการไม่ต้องมีหนังสือรับรองจากหน่วยงานราชการ สามารถยื่นขอใบอนุญาตนำเข้าจากกรมการค้าต่างประเทศได้เลย เพียงแต่เมื่อสินค้าถูกนำเข้ามาในราชอาณาจักรไทยแล้วต้องทำการรายงานต่อกรมการค้าต่างประเทศทุกครั้งเท่านั้น

7. รถจักรยานยนต์ใช้แล้ว
สินค้าชนิดนี้ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องขอหนังสือรับรองสินค้าจากหน่วยงานราชการ ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอใบอนุญาตนำเข้าจากกรมการค้าต่างประเทศได้เลย และอย่าลืมทำตามข้อกำหนดต่าง ๆ และแยกประเภทสินค้าตามที่กองบริหารการค้าสินค้าทั่วไป กรมการค้าต่างประเทศกำหนด

8. เครื่องพิมพ์ร่องลึก เครื่องพิมพ์อินทาลโย และเครื่องถ่ายเอกสารชนิดสอดสี
สินค้าชนิดนี้ก็ไม่ต้องมีหนังสือรับรองสินค้าจากหน่วยงานราชการเช่นกัน ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอใบอนุญาตนำเข้าสินค้าจากกรมการค้าต่างประเทศได้เลย แต่มีประเด็นสำคัญอยู่ที่ผู้ประกอบการจะต้องรายงานจำนวนสินค้าที่มีอยู่ในครอบครองให้กรมการค้าต่างประเทศได้ทราบทุกสิ้นเดือนมิถุนายนและธันวาคมของทุกปี โดยการรายงานจะมีกำหนดภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

9. ไหมสำเร็จรูป
หากผู้ประกอบการนำเข้าเส้นไหมดิบจะต้องมีหนังสือรับรองคุณภาพจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และถ้าหากเป็นการนำเข้าเส้นไหมสำเร็จรูปผู้ประกอบการจะต้องแสดงหนังสือรับรองคุณภาพที่ออกโดยหน่วยงานราชการจากประเทศผู้ผลิต หรือสถาบันที่หน่วยงานราชการของประเทศผู้ผลิตรับรอง เพื่อประกอบเอกสารยื่นขอใบอนุญาตนำเข้าจากกรมการค้าต่างประเทศ และเมื่อมีการนำเข้ามาเรียบร้อยแล้วผู้ประกอบการจะต้องรายงานปริมาณการนำเข้าต่อกรมการค้าต่างประเทศภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่นำเข้า และจะต้องรายงานปริมาณคงเหลือของเส้นไหมที่ได้รับอนุญาตนำเข้าสินค้าทุก ๆ 3 เดือนต่อกรมการค้าต่างประเทศ

10. สารคาเฟอีน (Caffeine)
ผู้ประกอบการจะต้องมีหนังสือรับรองการสั่งสารเคเฟอีนเข้ามาในราชอาณาจักรไทยจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข หรือสามารถใช้หนังสือรับรองจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมแทนก็ได้ เพื่อนำไปประกอบเอกสารขอใบอนุญาตนำเข้าจากกรมการค้าต่างประเทศ

11. สารโพแทสเซียมเพอร์แมงกาเนต (Potassium Permanganate)
สินค้าชนิดนี้ไม่มีความยุ่งยาก ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอใบอนุญาตนำเข้าสินค้าต่อกรมการค้าต่างประเทศได้เลย เพียงแต่ก่อนการนำเข้า 15 วันจะต้องรายงานต่อกรมการค้าต่างประเทศอีกครั้ง

12. สารระเหยกลุ่มโวลาไทล์อัลคิลไนไตรท์ (Volatile Alkyl Nitrite)
การนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้ ผู้ประกอบจะต้องทราบก่อนว่านำเข้ามาเพื่อทางการแพทย์ หรือนำเข้ามาเพื่อใช้ประโยชน์ทางอุตสาหกรรม โดยหนังสือรับรองสินค้าหากนำมาใช้ทางการแพทย์จะต้องได้รับหนังสือรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข และถ้าหากใช้ในงานอุตสาหกรรมจะต้องมีหนังสือรับรองจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อนำประกอบเอกสารยื่นขอใบอนุญาตนำเข้าจากกรมการค้าต่างประเทศ

โดยรายการสินค้าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ผู้ประกอบการจะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบการนำเข้าสินค้า-ส่งออกสินค้าที่อยู่ภายใต้มาตรการการควบคุมของกรมการค้าต่างประเทศก่อน ซึ่งการขอขึ้นทะเบียนนี้ผู้ประกอบการสามารถปรึกษาบริษัทโลจิสติกส์เพื่อแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ไปดำเนินการด้านเอกสารแทนได้ หรือจะขอความรู้เพื่อไปดำเนินการด้วยตัวเองก็ได้เช่นกัน