บทความ

นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศอย่างไร ไม่ให้ถูกตรวจยึดจากด่านศุลกากร

การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศสู่ราชอาณาจักรไทย ไม่ว่าจะทางเรือหรือเครื่องบิน มีขั้นตอนและเอกสารที่คล้ายกัน ปัญหาที่เกิดจากการนำเข้าส่วนใหญ่คือ สินค้าถูกตรวจยึดด้วยสาเหตุที่แตกต่างกันไป เช่น สินค้าไม่ตรงกับเอกสารที่ระบุ, เป็นสินค้าที่ต้องมีใบอนุญาต และเป็นสินค้าต้องห้าม เป็นต้น ด้วยสาเหตุเหล่านี้ทำให้ต้องเสียเวลาในการเคลียร์สินค้าออกหรือในบางกรณีอาจจะต้องเสียสินค้านั้น ๆ ไป แล้วจะนำเข้าอย่างไรถึงจะถูกต้องและสินค้าไม่ถูกตรวจยึด ขอให้คุณทำตามเรื่องเหล่านี้ได้เลย

ข้อควรรู้ นำเข้าสินค้าอย่างไรให้สินค้าไม่ถูกตรวจยึด

การนำเข้าสินค้านั้นมีอยู่หลากหลายประเภท เริ่มต้นจากง่าย ๆ ก่อน หากสินค้าของคุณเป็นสินค้าทั่วไป เช่น Garment หรือ General Goods ที่ระบุอยู่ใน Description ของ B/L (Bill of Lading) หรือ Air Waybill เมื่อสินค้าเข้ามาถึงท่าเรือหรือท่าอากาศยานที่ระบุในประเทศไทย เอกสารที่ต้องเตรียมสำหรับให้ชิปปิ้งเคลียร์ภาษี จะต้องมีใบ D/O (Delivery Order) สำหรับปล่อยตู้สินค้าที่ท่าเรือ หรือท่าอากาศยาน และใน Description ของ D/O จะต้องตรงกับ Description ของ B/L เสมอ โดยผู้ประกอบการต้องให้ความร่วมมือกับบริษัทโลจิสติกส์และชิปปิ้งในการแจ้งรายละเอียดสินค้าให้ถูกต้อง สินค้าจึงสามารถตรวจปล่อยมาได้โดยปราศจากปัญหา และต่อไปนี้คือข้อมูลการนำเข้าที่ผู้ประกอบการควรทราบ

  • สินค้าต้องห้าม หมายถึง สินค้าที่ห้ามนำเข้า-ส่งออกโดยเด็ดขาด ได้แก่ สิ่งของลามกและวัตถุลามกทั้งหมด, สินค้าที่มีตราหรือลวดลายเป็นรูปธงชาติ, ยาเสพติดทุกชนิด, พันธบัตร เงินตรา ดวงตราแผ่นดิน พระปรมาภิไธย, สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งหมด และสินค้าปลอมแปลงเครื่องหมายทางการค้า เป็นต้น
  • สินค้าที่ต้องมีใบอนุญาต ได้แก่ สินค้ากลุ่มยาเวชภัณฑ์, เคมีภัณฑ์, สินค้าเกษตร และสินค้าประเภทเครื่องจักรที่ต้องไม่มีน้ำมันอยู่ในเครื่องจักร เป็นต้น สินค้าเหล่านี้ผู้ประกอบการจะต้องคุยกับคู่ค้าให้เรียบร้อยถึงการตรวจสอบที่ต้นทางให้มีเอกสารอนุญาต ใบรับรองการวิเคราะห์ เอกสารกำกับยา และเอกสารข้อมูลความปลอดภัย เมื่อคู่ค้ามีเอกสารเหล่านี้เรียบร้อยจะต้องส่งมาให้ผู้ประกอบการที่ไทยด้วย เพื่อทำการส่งต่อให้ชิปปิ้งหรือบริษัทโลจิสติกส์ เพื่อเตรียมเอกสารในการปล่อยสินค้า และทำพิธีการศุลกากรขาเข้า รวมไปถึงตรวจพิกัดศุลกากรเพื่อให้ชิปปิ้งเคลียร์ภาษี ขั้นตอนเหล่านี้จะช่วยให้สินค้าที่นำเข้ามาไม่ติดปัญหาในขั้นตอนต่าง ๆ
  • สิ่งที่ไม่ควรกระทำ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ของติดด่านศุลกากร คือ ความทุจริตในการส่งสินค้า ซึ่งผู้ประกอบการไม่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะส่งผลเสียตามมามากมาย การกระทำดังกล่าวคือการยัดไส้สินค้าโดยที่ไม่ได้แจ้งความจริงให้ชิปปิ้งทราบ เช่น แจ้งว่าสินค้าคือเฟอร์นิเจอร์ แต่ด่านศุลกากรกลับตรวจเจอเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ในเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นตู้เสื้อผ้าอีกที เป็นต้น เช่นนี้เป็นการกระทำที่ทุจริต เพราะพิกัดสินค้าของเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างกัน อัตราภาษีก็ต่างกัน ผลเสียหลังจากสินค้าถูกยึดคือชื่อบริษัทนำเข้าของคุณอาจจะถูกจับตามองทุกครั้งที่มีการนำเข้าสินค้าครั้งต่อ ๆ ไป และมีโอกาสที่จะถูกสุ่มตรวจทุกครั้ง
  • เอกสารที่ควรมอบให้ชิปปิ้ง เอกสารและข้อมูลที่ผู้ประกอบการควรมอบให้ชิปปิ้งหรือบริษัทโลจิสติกส์ ในกรณีที่ผู้ประกอบการเป็นผู้ติดต่อพูดคุยกับคู่ค้าเอง คือ เอกสารการส่งออกจากคู่ค้า เมื่อผู้ประกอบการได้เอกสารส่งออกมาแล้วควรส่งให้บริษัทโลจิสติกส์หรือชิปปิ้งดำเนินการต่อ ได้แก่ ตารางเรือ (ข้อมูลเรือเข้าเทียบท่าวันไหน ชื่อเรือ วอยย์เรือ), ใบตราส่งสินค้า, รายการสินค้าทั้งหมด, รายละเอียดการบรรจุสินค้าหีบห่อเป็นอย่างไร หรือเรียกว่า Invoice Packing List และเอกสารการรับรองสินค้าอื่น ๆ ถ้ามี จากนั้นบริษัทโลจิสติกส์จะนำเอกสารทั้งหมดมาทำเป็นใบขนสินค้าและนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากร
  • ขั้นตอนการตรวจปล่อยสินค้า เมื่อเอกสารทุกอย่างอยู่ในระบบของศุลกากรแล้ว ศุลกากรจะทำการตรวจสอบใบขน ชื่อที่อยู่ผู้นำเข้าสินค้า เลขประจำตัวผู้เสียภาษี พิกัดอัตราศุลกากร และราคาสินค้า หากไม่พบปัญหาชิปปิ้งจะทำการเคลียร์ภาษีและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จากนั้นจะนำใบขนพร้อมใบเสร็จให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบอีกครั้ง เพื่อระบุว่าสินค้าจะต้องผ่านการเปิดตรวจหรือไม่ หากใบขนระบุว่ายกเว้นการเปิดตรวจจะสามารถปล่อยสินค้าได้ทันที ส่วนใบขนที่ระบุว่าจะต้องมีการเปิดตรวจตามพิธีการศุลกากร สินค้านั้น ๆ จะถูกย้ายไปให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจสอบอีกครั้ง หากไม่พบปัญหาสินค้าจะถูกปล่อยตามปกติ แต่ถ้าพบปัญหาของติดด่านศุลกากรทันที และจะมีการแจ้งให้ชิปปิ้งหรือผู้ประกอบการทราบ

ขั้นตอนการนำเข้าสินค้าไม่ให้ถูกตรวจยึดจากด่านศุลกากรนั้น สามารถทำได้ง่ายหากผู้ประกอบการให้ความร่วมมือกับชิปปิ้งและบริษัทโลจิสติกส์อย่างตรงไปตรงมา และปฏิบัติตามข้อบังคับของศุลกากรอย่างเคร่งครัด รวมไปถึงไม่มีพฤติกรรมทุจริตหรือจงใจที่จะหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้า สินค้าของผู้ประกอบการจะถูกปล่อยออกมาอย่างง่ายดายและใช้เวลาไม่นาน